Monday, July 15, 2013

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอเมือยะลา

อำเภอเมืองยะลา


สถานที่ที่น่าท่องเที่ยวในอำเภอเมือง  ได้แก่


1. ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  :
เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวยะลา ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยอดเสาหลักเมืองให้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2505 ภายในศาลประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งสร้างด้วยแก่นไม้ชัยพฤกษ์สูง 50 ซม. วัดโดยรอบฐาน 43 นิ้ว ที่ปลาย 36 นิ้ว พระเศียรยอดเสาเป็นรูปพรหมจตุรพักตร์และเปลวไฟ บริเวณโดยรอบจัด เป็นสวนสาธารณะร่มรื่นสวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีการจัดงานสมโภชเจ้าพ่อหลักเมือง ในวันที่ 25 พฤษภาคม 4 มิถุนายน ของทุกปี 

2. สวนสาธารณะสนามโรงพิธีช้างเผือก :
สวนสาธารณะสนามโรงพิธีช้างเผือก ตั้งอยู่ใกล้กับสวนขวัญเมืองสวนสาธารณะอีกแห่งหนึ่ง บนเนื้อที่ 70 ไร่ ประกอบด้วยสระน้ำ ศาลากลางน้ำ รูปปั้นสัตว์ชนิดต่างๆ สนามเด็กเล่น สนามเทนนิส สนามแบดมินตัน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สำหรับคลายความตึงเครียดจากหน้าที่การงาน และเทศบาลยังได้สร้างสวนน้ำ เพื่อให้เยาวชนชาวยะลามาว่ายน้ำออกกำลังกาย ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เพราะออกแบบได้กลมกลืนกับสวนสาธารณะ มีที่นั่งพักผ่อนสำหรับผู้ปกครองในขณะรอลูกหลานด้วย นอกจากนั้นยังมี อาคารช้างเผือก “พระเศวตสุรคชาธาร” โรงพละศึกษา 4,000 ที่นั่ง ปรับอากาศโอ่อ่า สวยงาม มาตรฐานระดับนานาชาติ สำหรับการแข่งขันกีฬา และการประชุม

3. สวนขวัญเมืองยะลา :
สวนขวัญเมือง (พรุบาโกย) ห่างจากศาลากลางจังหวัดยะลา ประมาณ 300 เมตร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจกลางเมือง ที่ใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์แบบแห่งหนึ่ง บนเนื้อที่ 207 ไร่ ทะเลสาบจำลองขนาดใหญ่ โขดหินจัดวางไว้อย่างสวยงามไม่แพ้เมืองอื่น นับเป็นศักดิ์ศรีและความภูมิใจของชาวยะลา ที่มีสวนสาธารณะกว้างใหญ่อยู่ใจกลางเมือง



4.  สวนศรีเมือง : 
เทศบาลนครยะลาได้รับเงินงบประมาณอุดหนุน (กระตุ้นเศรษฐกิจ) จากรัฐบาล จำนวน 99 ล้านบาท ในปี 2545 เพื่อปรับปรุงก่อสร้างคันกั้นน้ำและโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำปัตตานี จากบริเวณตลาดเมืองใหม่ถึงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทำให้ชาวยะลามีสวนสาธารณะแห่งใหม่ล่าสุดต้อนรับปี 2546 เริ่มตั้งแต่พื้นที่บริเวณอาคารคิวจอดรถรวมของเทศบาลใกล้ตลาดเมืองใหม่ที่มีพื้นที่ ลานสำหรับจัดกิจกรรมมีน้ำพุ ลานนั่งชมการแสดง จุดสำหรับจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สนามเด็กเล่น ลานจอดรถบริเวณริมน้ำ จุดนี้มีบันไดลงท่าน้ำเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นท่าเรือ ในส่วนของพื้นที่ริมน้ำตลอดระยะทาง 2 กิโลเมตร มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และมีเก้าอี้สำหรับพักผ่อนชมวิว มีจุดจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ใกล้สามแยกพุทธภูมิวิถี (ใกล้ร้านย่งฮวด) ถัดไปจะมีสวนหย่อมริมน้ำ ทางเดินริมน้ำ สำหรับบริเวณใกล้สะพานข้ามทางรถไฟมีลานอเนกประสงค์ สำหรับจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย มีสวนหย่อมขนาดใหญ่ มีเก้าอี้นั่งพักผ่อนและลานจอดรถอำนวยความสะดวกอีกด้วย

5. สวนมิ่งเมืองยะลา :
ปี 2545 เทศบาลนครยะลา ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง (แบเมาะพัฒนา) โดยเริ่มจากทางเข้าเมือง (ก่อนถึงป้อมตำรวจบ้านจารู) มาออกถนนสี่เลนใกล้สะพานเฉลิมพระเกียรติ ฯ เพื่อเชื่อมกับถนน ผังเมือง 4 ซึ่งสวนสาธารณะมิ่งเมือง มีความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มาเป็นประธานเปิดถนนสวนสาธารณะมิ่งเมือง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2546 สวนสาธารณะแห่งนี้มี 4 แห่ง คือ สวนมิ่งเมือง 1 – 4 หรือ บาโร๊ะบารู 1 – 4 นับเป็นสวนแห่งใหม่สำหรับชาวตลาดเก่าและชาวยะลาอีกแห่งหนึ่ง

6. สวนน้ำเทศบาลนครยะลา :
สวนน้ำเทศบาลนครยะลาตั้งอยู่ในบริเวณสนามโรงพิธิช้างเผือก เป็นสระว่ายน้ำสำหรับเด็กเล็กได้มาฝึกว่ายน้ำ จะมีอาจารย์สอนว่ายน้ำประจำอยู่ที่สระทุกวันจันทร์-ศุกร์ และมีมุมห้องสมุดให้ผู้ปกครองสามารถนั่งอ่านหนังสือขณะที่รอเด็กๆว่ายน้ำได้

7.  พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) :

ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าถ้ำ เดินทางไปตามเส้นทาง ยะลา-หาดใหญ่ประมาณ 4 กม. ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดหน้าถ้ำ เพราะภายในวัดมีถ้ำใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์โบราณขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า สร้างมาแต่ปี พ.ศ. 1300 สมัยศรีวิชัย มีความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพ นาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระ พุทธไสยาสน์แบบหินยาน ชาวใต้ถือกันว่าเป็นปูชนียสถานที่ สำคัญ 1 ใน 3 ของภาคใต้ เช่นเดียวกับพระบรมธาตุเมือง นครศรีธรรมราช และพระธาตุไชยาที่สุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีหินงอกหินย้อยเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น ม่าน เศียรช้างเอราวัณ และมีน้ำไหลจากโขดหินธรรมชาติ ภายในถ้ำมีการติดตั้งไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวที่จะชมถ้ำมืดแห่งนี้ด้วย

8. มัสยิดกลางจังหวัดยะลา :
ประวัติความเป็นมามัสยิดกลางจังหวัดยะลาตั้งขึ้นครั้งแรก พ.ศ.๒๔๙๗ ในที่ดินของนายอุสมาน  ดอฮะ โดยมีหะยีอับดุลฮามิด อับดุลซอมัดเป็นอิหม่าม มัสยิดนี้ชื่อว่า "มัสยิดเราฏอตุลยันนะห์" ใน พ.ศ.๒๔๙๙ รัฐบาลได้ให้งบประมาณสนับสนุนให้ขยายขนาดของอาคารมัสยิดให้จุคนได้ ๓๐๐ คน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๒ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ๒๘,๒๐๐,๐๐๐  บาท  ขยายพื้นที่และสร้างอาคารมัสยิดดังเห็นอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นอาคารที่ออกแบบโดยสถาปนิกของกระทรวงศึกษาธิการเป็นอาคาร ๓  ชั้น  กว้าง  ๓๐  เมตร  ยาว ๗๐ เมตร หออาซานสูง ๓๘ เมตร

ความสำคัญต่อชุมชน
        
มัสยิดกลางจังหวัดยะลาเป็นศาสนสถานที่ชาวไทยมุสลิมได้ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และที่ประชุมเพื่อศึกษาธรรม เป็นมัสยิดที่สง่างามและเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวจังหวัดยะลา

เส้นทางเข้าสู่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา
        
จากศาลากลางจังหวัดยะลา ไปตามถนนสิโรรส ประมาณ ๒ กิโลเมตร

No comments:

Post a Comment